คู่มือการจัดทำวิทยานิพนธ์ ระดับบัณฑิตศึกษา
ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565
ส่วนประกอบ
การจัดทำดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ และการค้นคว้าอิสระ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งนักศึกษาจะต้องจัดทำเล่มดุษฎีนิพนธ์ วิทยานิพนธ์
และการค้นคว้าอิสระ โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่
- ส่วนนำ
- ส่วนเนื้อหา
- ส่วนท้าย
โดยทั้ง 3 ส่วน นักศึกษาจะต้องจัดรูปแบบการพิมพ์ให้เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดในคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาฉบับนี้อย่างถูกต้อง
ส่วนนำ
ส่วนนำมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
บทคัดย่อเป็นข้อความที่สรุปเนื้อหาทั้งหมด มีสาระสำคัญสามประการ คือวัตถุประสงค์ และขอบเขตของการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย (รวมถึงลักษณะของประชากร หรือการสุ่มตัวอย่างประชากร และเครื่องมือที่ใช้) และผลการวิจัย ให้มีบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ส่วนเนื้อหา
จำนวนบท ให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษา
- ให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาเอก ที่เลือกพิมพ์วิทยานิพนธ์รูปแบบใหม่ ต้องมีบทความวิจัยจากดุษฎีนิพนธ์ ที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ไม่น้อยกว่า 3 บทความ
- ให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ระดับปริญญาโท ที่เลือกพิมพ์วิทยานิพนธ์รูปแบบใหม่ ต้องมีบทความวิจัยจากวิทยานิพนธ์ ที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ไม่น้อยกว่า 2 บทความ
- บทความวิจัยจากวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ ตามประกาศของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง แนวปฎิบัติในการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2556 (ฉบับปรับปรุง) โดยถือ ณ วันที่ผลงานได้รับการตีพิมพ์เป็นหลัก
- ทุกบทความต้องมีชื่อนักศึกษาเป็นชื่อแรก
- การพิมพ์วิทยานิพนธ์ ให้ใช้รูปแบบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ดูรายละเอียดในคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ จัดทำโดยสำนักงานบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- ส่วนนำ (ส่วนประกอบตามข้อ 2.1)
- บทที่
ส่วนท้าย
ข้อกำหนดการพิมพ์ทั่วไป
เล่มภาษาไทยใช้ตัวอักษรไทยสารบรรณ นิว (TH Sarabun New) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดูการติดตั้งฟอนต์และดาวน์โหลดฟอนต์ได้ที่ https://shorturl.asia/ud7YJ
เล่มภาษาไทย: เว้นระยะบรรทัดปกติ (Single) ตลอดทั้งเล่ม
เล่มภาษาอังกฤษ: เว้นระยะบรรทัด 1.5 (1.5 line) ตลอดทั้งเล่ม
1. ส่วนนำ (หน้าปกถึงสารบัญ)
ด้านบน เว้นจากขอบกระดาษ 2 นิ้ว
ด้านซ้ายและด้านล่าง เว้นจากขอบกระดาษ 1.5 นิ้ว
ด้านขวา เว้นจากขอบกระดาษ 1 นิ้ว
2. ส่วนเนื้อหา (หน้าแรกของแต่ละบท)
ด้านบน เว้นจากขอบกระดาษ 2 นิ้ว
ด้านซ้าย เว้นจากขอบกระดาษ 1.5 นิ้ว
ด้านขวาและด้านล่าง เว้นจากขอบกระดาษ 1 นิ้ว
3. ส่วนเนื้อหา (บทที่)
ด้านบนและด้านซ้าย เว้นจากขอบกระดาษ 1.5 นิ้ว
ด้านขวาและด้านล่าง เว้นจากขอบกระดาษ 1 นิ้ว
4. ส่วนท้าย (ใบคั่นหน้ารายการอ้างอิง ภาคผนวก ประวัติผู้แต่ง)
ใบคั่นหน้าส่วนท้ายไม่แสดงเลขหน้า แต่ให้นับเลขหน้าต่อจากหน้าก่อน
5. ส่วนท้าย (หน้าแรกของรายการอ้างอิง, ภาคผนวก และประวัติผู้แต่ง)
ด้านบน เว้นจากขอบกระดาษ 2 นิ้ว
ด้านซ้าย เว้นจากขอบกระดาษ 1.5 นิ้ว
ด้านขวาและด้านล่าง เว้นจากขอบกระดาษ 1 นิ้ว
- จัดกรอบข้อความแบบกระจายไทย
- เว้นช่องว่างระหว่างประโยค, ตัวอักษร, ตัวเลขและสัญลักษณ์เพียงหนึ่งตัวอักษร
- จัดข้อความไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างคำที่ผิดไปจากปกติ
เว้นระยะไปจากแนวคั่นหน้าประมาณ 0.5 นิ้ว กรณีมีย่อเนื้อหาย่อยต่อ ๆ ไป ให้ย่อหน้าเข้าไปอีกครั้งละ 0.25 นิ้ว
- กรณีพิมพ์คำสุดท้ายไม่จบในบรรทัดนั้น ๆ ให้ยกคำทั้งคำไปพิมพ์ในบรรทัดต่อไป ไม่แยกส่วนท้ายของคำไปพิมพ์ในบรรทัดใหม่
- ควรจัดให้คำเดียวกันอยู่บรรทัดเดียวกัน เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อสารเคมี ชื่อประเทศ ฯลฯ
กรณีต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ แต่มีเนื้อที่ส่วนท้ายของกระดาษเหลือให้พิมพ์ได้อีกเพียงบรรทัดเดียว ให้ยกย่อหน้านั้นไปตั้งต้น และพิมพ์ในหน้าถัดไป หรือจัดตามความเหมาะสมของแต่ละหัวข้อ
การพิมพ์เลขหน้า และการลำดับหน้า
ระบุเลขหน้าในเครื่องหมายวงเล็บ โดยเริ่มหน้า (3) คือ หน้ากิตติกรรมประกาศถึงสารบัญ โดยจัดไว้กลางหน้ากระดาษ ห่างจากขอบกระดาษล่าง ประมาณ 1 นิ้ว
นับหน้าที่ 1 ตั้งแต่หน้าแรกของบทที่ 1 ถึงหน้าสุดท้ายของประวัติผู้แต่ง โดยพิมพ์เลขกำกับหน้าทุกหน้า (ยกเว้นหน้าแรกของแต่ละบท และใบคั่นหน้าของส่วนท้าย) ไว้ที่ด้านบนขวาของกระดาษห่างจากขอบกระดาษด้านบน และด้านขวา ประมาณ 1 นิ้ว
พิมพ์เลขกำกับหน้าทุกหน้า (ยกเว้นหน้าบอกตอนของส่วนท้าย แต่ให้นับหน้า)
การแบ่งบท หัวข้อในบท และเนื้อหาแต่ละหัวข้อ
จำนวนบท ให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ที่ปรึกษา
เมื่อเริ่มบทใหม่จะต้องขึ้นหน้าใหม่เสมอ พิมพ์คำว่า “บทที่” และมีเลขประจำบท โดยพิมพ์ไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ ใช้อักษรขนาด 20 point ตัวหนา
เว้นระยะพิมพ์ห่างจากบทที่ 2 บรรทัด พิมพ์ไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ ใช้อักษรขนาด 20 point ตัวหนา หากชื่อบทยาวเกิน 1 บรรทัด ให้แบ่งเป็นสองหรือสามบรรทัดตามความเหมาะสม โดยพิมพ์เรียงลงมาในลักษณะสามเหลี่ยมหัวกลับ แต่ทั้งนี้ให้เน้นที่การแบ่งคำเป็นสำคัญ
1. หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อสำคัญระดับแรก (เช่น 1.1, 2.1) ใช้อักษรขนาด 18 point ตัวหนา
- การพิมพ์ ให้พิมพ์เลขลำดับหัวข้อชิดแนวคั่นหน้า เว้นระยะระหว่าง เลขหัวข้อและชื่อหัวข้อประมาณ 2 ตัวอักษร
- ชื่อหัวข้อใหญ่ หากมีความยาวเกินหนึ่งบรรทัด ให้ข้อความในบรรทัดที่สองเป็นต้นไปให้อยู่ในแนวเดียวกับอักษรตัวแรกของชื่อในบรรทัดบน
- การเว้นระยะ ให้เว้นระยะจากบรรทัดบน 2 บรรทัด เมื่อจบข้อความของหัวข้อใหญ่ เว้น 2 บรรทัด เพื่อพิมพ์เนื้อหาหรือหัวข้อรอง
- การพิมพ์เนื้อหา พิมพ์เนื้อหาหรือหัวข้อรอง โดยย่อหน้าจากแนวคั่นหน้า 0.5 นิ้ว บรรทัดต่อไปพิมพ์ชิดแนวคั่นหน้า
2. หัวข้อรอง คือ หัวข้อสำคัญระดับที่สอง (เช่น 1.1.1, 2.1.1) ใช้อักษรขนาด 16
- การพิมพ์ ให้พิมพ์เลขลำดับหัวข้อโดยย่อหน้าจากแนวคั่นหน้า 0.5 นิ้ว เว้นระยะระหว่างเลขหัวข้อและชื่อหัวข้อประมาณ 2 ตัวอักษร
- ชื่อหัวข้อรอง หากมีความยาวเกินหนึ่งบรรทัด ให้ข้อความในบรรทัดที่สองเป็นต้นไปให้อยู่ชิดแนวคั่นหน้า
- การเว้นระยะ ย่อหน้าแรกของเนื้อหาให้จัดอยู่แนวเดียวกับเลขลำดับหัวข้อ โดยไม่เว้นระยะบรรทัด เนื้อหาบรรทัดต่อไปพิมพ์ชิดแนวคั่นหน้า
3. หัวข้อย่อย และหัวข้อย่อยต่อ ๆ ไป หรือการลำดับเนื้อหาเป็นข้อ ๆ ใช้ตัวอักษรขนาด 16 point ธรรมดา
- การพิมพ์ พิมพ์เลขลำดับหัวข้อ และตัวอักษรกำกับตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เว้นระยะระหว่างเลขหัวข้อและชื่อหัวข้อประมาณ 2 ตัวอักษร
- ชื่อหัวข้อ หากมีความยาวเกินหนึ่งบรรทัด ให้ข้อความในบรรทัดที่สองเป็นต้นไปให้อยู่ชิดแนวคั่นหน้า
- การเว้นระยะ ย่อหน้าแรกของเนื้อหา ให้จัดอยู่แนวเดียวกับเลขลำดับหัวข้อ โดยไม่เว้นระยะบรรทัด เนื้อหาบรรทัดต่อไปพิมพ์ชิดแนวคั่นหน้า
การพิมพ์ศัพท์เฉพาะ
การพิมพ์ชื่อวิทยาศาสตร์ของจุลชีพ พืช สัตว์ ให้ใช้ตามประมวลนามศาสตร์สากล(International Code of Nomenclature)
Ex.
Borassus flabelifer
Artocarpus heterophyllus Lam.
Amomum krervanh Pierre
Eugenia caryophyllum Bullock & Harrison
Website International Code of Nomenclature: https://www.iapt-taxon.org/nomen/main.php
ใช้หลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน
- จังหวัด ภาษาอังกฤษใช้ Province
- อำเภอ ภาษาอังกฤษใช้ District
- ตำบล ภาษาอังกฤษใช้ Sub-district
- เขต ภาษาอังกฤษใช้ Area
- แขวง ภาษาอังกฤษใช้ Sub-area
1. คำภาษาอังกฤษที่มีใช้ในภาษาไทยอย่างแพร่หลาย
เขียนเป็นภาษาไทยตามหลักเกณฑ์การเขียนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน โดยไม่ต้องแสดงภาษาอังกฤษประกอบ เช่น ออกซิเจน องศาเซลเซียส วัคซีน เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ฟังก์ชัน เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ อีเมล เป็นต้น
2. คำภาษาอังกฤษที่ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย
คำภาษาอังกฤษที่ยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย หรือคำย่อต่าง ๆ ให้เขียนคำแปลหรือเขียนคำอ่านทับศัพท์เป็นภาษาไทยกำกับไว้ภายในวงเล็บ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
3. การเขียนคำภาษาไทยและมีภาษาอังกฤษในวงเล็บ
ให้เขียนคำไทยที่มีการวงเล็บคำอังกฤษไว้ครั้งแรกเพียงครั้งเดียวครั้งต่อไปให้ใช้เฉพาะคำไทย
4. ภาษาอังกฤษในวงเล็บ
ใช้การเขียนหลักการเดียวกันทั้งเล่ม ดังนี้
- เลือกใช้หลักการเขียนแบบใดแบบหนึ่งทั้งเล่ม เช่น กระบวนการชำระเงิน (payment processes) หรือ กระบวนการชำระเงิน (Payment processes)
หรือ กระบวนการชำระเงิน (Payment Processes)
- กรณีเป็นอักษรย่อ หรือคำเฉพาะให้พิมพ์ตามหลักของคำนั้น ๆ
ตาราง/ภาพ
การอ้างอิง
การอ้างอิงในเนื้อหา คือ การระบุแหล่งที่มาของข้อมูลที่ผู้แต่งนำมาประกอบในงานเขียน ทำให้ทราบว่าข้อมูลนั้น ๆ มาจากแหล่งใด โดยใส่รายละเอียดทางบรรณานุกรมของแหล่งข้อมูลในรายการอ้างอิง
การอ้างอิงในเนื้อหา และรายการอ้างอิงต้องสัมพันธ์กัน กล่าวคือ แหล่งข้อมูลที่มีการอ้างอิงในเนื้อหา ต้องปรากฏในรายการอ้างอิง และแหล่งข้อมูลแต่ละรายการในรายการอ้างอิงต้องมีการอ้างอิงถึงในส่วนเนื้อหา
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กำหนดรูปแบบวิธีการเขียนแหล่งอ้างอิงในเนื้อหา 2 รูปแบบ คือ การอ้างอิงแบบนามปีและการอ้างอิงแบบตัวเลข โดยนักศึกษาสามารถเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งได้ ดังนี้
การอ้างอิงโดยระบุชื่อผู้แต่ง และปีที่พิมพ์เอกสาร ไว้ในเนื้อหาที่ต้องการอ้าง เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อความ ในกรณีที่อ้างอิงเนื้อหาโดยตรงหรือแนวคิดบางส่วน หรือคัดลอกข้อความบางส่วนมาจากต้นฉบับควรระบุเลขหน้าไว้ด้วย โดยมีวิธีการอ้างอิงในเนื้อหา ดังนี้
1. ระบุชื่อผู้แต่ง นามสกุล และปีพิมพ์ไว้ในวงเล็บท้ายข้อความ ระหว่างชื่อผู้แต่งและปีพิมพ์ มีเครื่องหมายจุลภาคคั่น
เช่น ประวัติศาสตร์การสถาปนาแนวความคิดสิทธิมนุษยชนบนโลกนี้ คือ การประกาศว่าสิทธิมนุษยชน คือ พื้นฐานอันชอบธรรมขั้นสูงสุดสำหรับชุมชนมนุษย์ หรือคือ หลักการสากลที่มนุษย์พึงเคารพ เพราะสิทธิในความเป็นมนุษย์ย่อมเป็นสิทธิทางธรรมขั้นสูงสุดในการดำรงอยู่ สิทธิเป็นจุดเชื่อมระหว่างบุคคลกับส่วนรวม เพื่อการพัฒนาชีวิตทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, 2530)
2. ระบุชื่อผู้แต่งไว้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อความ ส่วนปีพิมพ์ใส่วงเล็บ
เช่น ในเรื่องอายุความการลงโทษนี้ หยุด แสงอุทัย (2544, หน้า 12) ได้กล่าวไว้ว่า เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามีความประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในระยะเวลาอันสมควร ฉะนั้นถ้าไม่ได้ตัวผู้ต้องคำพิพากษามาลงโทษภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็ถือว่าเป็นการขาดอายุความล่วงเลยการลงโทษ
3. ระบุชื่อผู้แต่งและปีพิมพ์ ไว้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อความ
เช่น ในปี พ.ศ. 2524 ประถม แสงสว่าง ศึกษาลักษณะของนักบริหารการศึกษาที่คนไทยพึงประสงค์ พบว่า . . .
4. ย่อหน้าหนึ่ง ๆ ถ้ามีการอ้างถึงแหล่งข้อมูลเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง ไม่ต้องระบุปีพิมพ์ในการอ้างที่ไม่ใช่ครั้งแรก เว้นเสียว่ามีการอ้างถึงงานอื่นของผู้แต่งรายเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้สับสนได้
เช่น พนัส หันนาคินทร์ (2524) อธิบายความหมายของการปกครองบังคับบัญชาว่า หมายถึงกิจกรรมที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องกระทำต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ เช่น การแนะนำให้คำปรึกษาหารือคอยช่วยเหลือและแก้ปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ มิใช่คอยจับผิด เป็นต้น พนัส หันนาคินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการปกครองบังคับบัญชาที่ดีนั้น ผู้บังคับบัญชาควรทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา มีความเป็นกันเอง ส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนมีการกำหนดมาตรฐานในการทำงานที่แน่ชัดให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือ และเต็มใจในการทำงาน
5. งานเขียนที่เป็นภาษาไทย ถ้าต้องการอ้างอิงผู้แต่งชาวต่างชาติไว้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อความ ให้ใช้นามสกุลของผู้แต่งโดยใช้ภาษาของผู้แต่ง
เช่น Luthans (1989) ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในการทำงานว่า ประกอบด้วย ค่าจ้าง ลักษณะของงาน ความก้าวหน้า การบังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และสภาพการทำงาน
MacLennan et al. (2001) พบว่าการรักษากลุ่มอาการระบบประสาทอัตโนมัติ (vasomotor symptom) การให้ฮอร์โมนเพศยังเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
6. การระบุเลขหน้า (ถ้ามี) งานเขียนภาษาไทย ใช้คำว่า หน้า ส่วนงานเขียนภาษาอังกฤษ ใช้ตัวย่อ p. (หน้าเดียว) และ pp. (หลายหน้า)
เช่น สันนิษฐานว่าน่าจะมีการใช้การใช้คำราชาศัพท์แล้ว ในสมัยสุโขทัย (ประภาศรี สีหอำไพ, 2538, หน้า 101) . . .
ประภาศรี สีหอำไพ (2538) สันนิษฐานว่าน่าจะมีการใช้คำราชาศัพท์แล้วในสมัยสุโขทัย (หน้า 101)
ลักษณะของงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้างานนั้นมีความหมาย ส่วนค่าจ้าง ความสะดวกสบายในการทำงาน และความมั่นคงของงานเป็นปัจจัยสำคัญรองลงมา (Lawler & Hall, 1970, pp. 15-20)
Bacharach and Bamberger (1990, p. 12) ทำการวิจัย . . .
การอ้างโดยระบุหมายเลขของแหล่งที่มาของข้อมูลไว้ในเนื้อหาที่ต้องการอ้าง โดยใส่หมายเลขไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [ ] เริ่มจากหมายเลข 1, 2, 3 . . . ตามลำดับจนจบเล่ม
1. การอ้างอิงที่เน้นเนื้อหา หรือไม่ได้ระบุชื่อผู้แต่งในเนื้อหา ให้ใส่ตัวเลขลำดับการอ้างอิงหลังข้อความที่อ้างอิง
เช่น การศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและทุกฝ่าย การรวมพลังจากบุคคลต่าง ๆ
ในสังคมร่วมแสดงความคิดเห็น [1] และกำหนดทิศทางในการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สถานศึกษากับชุมชนนั้นมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต [2] แม้แต่ . . .
2. การอ้างอิงแบบตัวเลขหลายรายการในข้อความ โดยตัวเลขที่อ้างอิงเป็นลำดับต่อเนื่องกัน ให้ใช้เครื่องหมายยติภังค์ (-) คั่นระหว่างตัวเลข
เช่น ปัจจุบันก็ยังคงมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน อีกทั้งจะต้องประสานร่วมมือกัน จึงจะทำให้ปรัชญาของการศึกษาบรรลุเป้าหมาย [3-5]
3. การอ้างอิงแบบตัวเลขหลายรายการในข้อความ โดยตัวเลขที่อ้างอิงเป็นลำดับที่ไม่ต่อเนื่องกัน ให้ใช้เครื่องหมายจุลภาค (,) คั่นระหว่างตัวเลข
เช่น ปัจจุบันก็ยังคงมีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน อีกทั้งจะต้องประสานร่วมมือกัน จึงจะทำให้ปรัชญาของการศึกษาบรรลุเป้าหมาย [3, 12]
4. หากมีการอ้างซ้ำก็ให้อ้างหมายเลขเดิมซ้ำได้อีก
5. รายการอ้างอิงท้ายเล่มให้จัดเรียงตามลำดับเลขการอ้างอิงในเนื้อหา โดยไม่ต้องเรียงลำดับอักษร และใช้การอ้างอิงแบบ APA Style
รายการอ้างอิง คือ รายการที่แสดงข้อมูลบรรณานุกรมของเอกสารที่นำมาอ้างอิงในเนื้อหาทั้งหมด (ยกเว้นแหล่งข้อมูลที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ เช่น จดหมายส่วนตัว
คำสนทนา) ซึ่งจะต้องปรากฏให้ตรงกันกับการอ้างอิงในเนื้อหา
รายการอ้างอิงแต่ละรายการจะต้องมีข้อมูลทางบรรณานุกรมที่ถูกต้อง และครบถ้วนตามรูปแบบที่กำหนด
1. การเรียงลำดับรายการอ้างอิง
เรียงรายการอ้างอิงภาษาไทย โดยลำดับ ก-ฮ ก่อนแล้วจึงเรียงรายการอ้างอิงภาษาอังกฤษ โดยลำดับ A-Z โดยไม่แยกประเภทเอกสาร
2. หลักเกณฑ์การลงรายการบรรณานุกรมในรายการอ้างอิง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกำหนดให้รายการอ้างอิงใช้หลักเกณฑ์แบบ APA Style
คู่มือหลักเกณฑ์การอ้างอิงฯ ตามรูปแบบ APA (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565)
ฉบับเต็ม: https://postgrads.mfu.ac.th/wp-content/uploads/2023/02/APA-7-TH-version.pdf
ฉบับย่อ: https://postgrads.mfu.ac.th/wp-content/uploads/2023/02/APA-7-TH.pdf