ประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา
เพื่อให้แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยตามเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วย การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2560
อาศัยอำนาจตามข้อ 123 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2560 และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2541 จึงเห็นเป็นการสมควรออกประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2560 โดยความเห็นชอบจากสภาวิชาการในการประชุม ครั้งที่ 10/2560 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จึงให้ออกประกาศไว้ดังนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2560”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้มีผลบังคับใช้กับหลักสูตรและนักศึกษาที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้มีผลบังคับใช้กับหลักสูตรที่มีการเปิดใหม่หรือหลักสูตรเก่าที่ปรับปรุงใหม่ตามหลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 ก่อนปีการศึกษา 2560 และนักศึกษาที่ได้ศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวนับแต่วันที่ประกาศนี้ มีผลบังคับ
ข้อ 4 ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ คำวินิจฉัยของอธิการบดีให้ถือเป็นที่สุด
ข้อ 5 นักศึกษาที่เรียนในสังกัดสำนักวิชาที่เปิดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาประกอบด้วย
5.1 กลุ่มสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย
5.1.1 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
5.1.2 สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
5.1.3 สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร
5.1.4 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
5.2 กลุ่มสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย
5.2.1 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
5.2.2 สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
5.3 กลุ่มสาขาวิชาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย
5.3.1 สำนักวิชาศิลปศาสตร์
5.3.2 สำนักวิชาการจัดการ
5.3.3 สำนักวิชานิติศาสตร์
5.3.4 สำนักวิชาจีนวิทยา
5.3.5 สำนักวิชานวัตกรรมสังคม
ข้อ 6 รูปแบบการเผยแพร่ผลงานวิจัยจากดุษฎีนิพนธ์/วิทยานิพนธ์/การค้นคว้าอิสระ ของนักศึกษาหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตและปริญญาดุษฎีบัณฑิต มีรูปแบบดังต่อไปนี้
6.1[1] ได้รับการตีพิมพ์หรือได้รับการตอบรับการตีพิมพ์จากบรรณาธิการหรือผู้จัดทำวารสารหรือสิ่งพิมพ์ ให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ระดับนานาชาติที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาวารสารทางวิชาการสำหรับเผยแพร่ผลงานวิชาการที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนด โดยถือ ณ วันที่ผลงานนักศึกษาได้รับการตอบรับการตีพิมพ์เป็นหลัก
6.2 ได้รับการตีพิมพ์หรือได้รับการตอบรับการตีพิมพ์จากบรรณาธิการหรือผู้จัดทำวารสารหรือสิ่งพิมพ์ ให้ตีพิมพ์ในวารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ในกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ 2 โดยถือ ณ วันที่ผลงานนักศึกษาได้รับการตอบรับการตีพิมพ์เป็นหลัก
6.3 นำเสนอบทความวิจัยในที่ประชุมวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติ โดยบทความวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ต้องได้รับการตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings)
1) การประชุมวิชาการระดับชาติ ต้องมีกองบรรณาธิการจัดทำรายงาน หรือคณะกรรมการจัดประชุม ประกอบด้วยศาสตราจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิระดับปริญญาเอก หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น ๆ จากนอกสถาบันเจ้าภาพ อย่างน้อยร้อยละ 25 และการนำเสนอบทความวิจัยต้องมีผู้ประเมินบทความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น และมีบทความที่มาจากหน่วยงานภายนอกสถาบันอย่างน้อย 3 หน่วยงาน และรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
2) การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ต้องมีกองบรรณาธิการจัดทำรายงาน หรือคณะกรรมการจัดประชุม ประกอบด้วยศาสตราจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิระดับปริญญาเอก หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น ๆ จากต่างประเทศ อย่างน้อยร้อยละ 25
ทั้งนี้ นักศึกษาต้องเป็นผู้นำเสนอผลงานวิจัยด้วยตนเองในวันและเวลาที่ผู้จัดประชุมกำหนด การนำเสนอจะเป็นการเสนอแบบปากเปล่าหรือแบบโปสเตอร์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
6.4 ได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่สืบค้นได้ โดยผ่านการพิจารณาการประเมินบทความก่อนการเผยแพร่จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 3 คน
ข้อ 7 รูปแบบและจำนวนการเผยแพร่ผลงานวิจัยจากดุษฎีนิพนธ์/วิทยานิพนธ์/การค้นคว้าอิสระ ของนักศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต และปริญญาดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
7.1 นักศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต
1) แผน ก1 ผลงานจากวิทยานิพนธ์จะต้องมีการเผยแพร่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามข้อ 6.1-6.2 ไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน
2) แผน ก2 ผลงานจากวิทยานิพนธ์จะต้องมีการเผยแพร่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามข้อ 6.1-6.3 ไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน
3) แผน ข ผลงานจากการค้นคว้าอิสระ จะต้องมีการเผยแพร่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามข้อ 6.1-6.4 ไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน
7.2 นักศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
1) แบบ 1.1 และ 1.2 ผลงานจากดุษฎีนิพนธ์จะต้องมีการเผยแพร่ รวมไม่น้อยกว่า 2 ผลงาน
โดยเผยแพร่ในรูปแบบตามข้อ 6.1 ไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน และตามข้อ 6.1-6.2 อีกไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน
2) แบบ 2.1 และ 2.2
ก. กลุ่มสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผลงานจากดุษฎีนิพนธ์จะต้องมีการเผยแพร่ในรูปแบบตามข้อ 6.1 ไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน
ข. กลุ่มสาขาวิชาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ผลงานดุษฎีนิพนธ์จะต้องมีการเผยแพร่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามข้อ 6.1-6.2 ไม่น้อยกว่า 1 ผลงาน
ข้อ 8[3] ชื่อของนักศึกษาต้องเป็นชื่อผู้ประพันธ์อันดับแรกในเอกสารการเผยแพร่ผลงานวิจัย (First Author) และมีชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์/วิทยานิพนธ์/การค้นคว้าอิสระ เป็นชื่อผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding Author) หรือผู้ประพันธ์ร่วม (Co-Author)
กรณีอาจารย์ที่ปรึกษาตามวรรคความในวรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะไม่ระบุชื่อในเอกสารการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักศึกษา ให้แสดงความประสงค์ไว้ในแบบรายงานการเผยแพร่ผลงานวิจัยตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ข้อ 9[3] ผลงานวิจัยที่เผยแพร่ต้องระบุสังกัด (Affiliation) และที่อยู่ (กรณีต้องระบุ) ของนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์/วิทยานิพนธ์/การค้นคว้าอิสระ เป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยกเว้นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้ประพันธ์ร่วมที่ไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ข้อ 10 การนำส่งหลักฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อขอสำเร็จการศึกษา
นักศึกษาต้องนำส่งรายงานการเผยแพร่ผลงานวิจัยตามแบบฟอร์มของมหาวิทยาลัย พร้อมเอกสารหลักฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัย ดังนี้
10.1 บทความวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์วิชาการเรียบร้อยแล้ว นักศึกษาต้องส่งหลักฐาน ดังนี้
1) สำเนาปกนอกของวารสาร หรือสิ่งพิมพ์วิชาการ
2) สำเนาสารบัญวารสาร หรือสิ่งพิมพ์วิชาการเฉพาะหน้าที่มีบทความวิจัยปรากฏ
3) สำเนาบทความฉบับเต็ม (Full Paper) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร หรือสิ่งพิมพ์วิชาการ
4) สำเนาหลักฐานที่แสดงว่าวารสารหรือสิ่งพิมพ์วิชาการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อ 6.1 หรือข้อ 6.2
10.2 บทความวิจัยได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์วิชาการแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการตีพิมพ์ นักศึกษาต้องส่งหลักฐาน ดังนี้
1) หนังสือรับรองการยอมรับให้ตีพิมพ์ฉบับจริง
2) บทความฉบับเต็ม (Full Paper) ที่จะนำไปตีพิมพ์ในวารสาร หรือสิ่งพิมพ์วิชาการ
3) สำเนาหลักฐานที่แสดงว่าวารสารหรือสิ่งพิมพ์วิชาการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อ 6.1 หรือข้อ 6.2
10.3[2] บทความวิจัยที่นำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการ และได้รับการตีพิมพ์ในเอกสารรายงานการประชุม (Proceedings) เรียบร้อยแล้ว นักศึกษาต้องส่งหลักฐาน ดังนี้
1) สำเนาประกาศนียบัตร หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่านักศึกษาไปนำเสนอผลงานในวันประชุมวิชาการ
2) สำเนาปกนอกของเอกสารรายงานการประชุมวิชาการ (Proceedings)
3) สำเนาสารบัญเฉพาะหน้าที่มีบทความวิจัยปรากฏ
4) สำเนาบทความฉบับเต็ม (Full Paper) ที่พิมพ์ในเอกสารรายงานการประชุมวิชาการ
5) สำเนาหน้ารายนามกองบรรณาธิการ หรือคณะกรรมการจัดประชุม โดยระบุสถาบันในสังกัด
6) สำเนาหลักฐานที่แสดงว่ามีผู้ประเมินบทความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น และมีบทความที่มาจากหน่วยงานภายนอกสถาบันอย่างน้อย ๓ หน่วยงาน และรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๕ (เฉพาะกรณีการประชุมวิชาการระดับชาติ)
7) กรณีได้รับรางวัลให้แนบหลักฐานการได้รับรางวัล เช่น เกียรติบัตร หนังสือรับรอง เป็นต้น
กรณีที่บทความวิจัยฉบับเต็ม (Full Paper) ที่นำไปตีพิมพ์ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) ที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS ให้ส่งหนังสือการยอมรับให้ตีพิมพ์พร้อมบทความฉบับเต็ม (Full Paper) ที่จะนำไปตีพิมพ์ใน Proceedings แทนหลักฐานในลำดับที่ 2) ลำดับที่ 3) และลำดับที่ 4) ข้างต้นได้
ทั้งนี้ นักศึกษาต้องผ่านการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยตนเองต่อที่ประชุมวิชาการก่อนจึงจะสามารถนำส่งหลักฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อขอสำเร็จการศึกษาได้
ข้อ 11 กรณีที่นักศึกษาไม่สามารถนำส่งเอกสารหลักฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยต่อสำนักงานบัณฑิตศึกษาได้ครบถ้วนทันภายในระยะเวลาที่กำหนดในภาคการศึกษาที่ประสงค์จะสำเร็จการศึกษา (เฉพาะกรณีนักศึกษาได้ดำเนินการอื่นใดเป็นไปตามเงื่อนไขการศึกษาครบถ้วนแล้ว คงค้างเฉพาะการเผยแพร่ผลงานวิจัย) ถือว่านักศึกษายังไม่สำเร็จการศึกษา และนักศึกษาต้องชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
ข้อ 12 กรณีนักศึกษาได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนระดับการศึกษาจากหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิต เป็นระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ผลงานวิจัยที่นักศึกษาเผยแพร่ในระดับปริญญามหาบัณฑิต ถือว่าเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตตามเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต ทั้งนี้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำสำนักวิชา และคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา ตามลำดับ
ข้อ 13 กรณีนักศึกษามีความจำเป็นที่ไม่สามารถเผยแพร่ผลงานวิจัยได้ อาทิเช่นผลงานวิจัยของนักศึกษาอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ให้นักศึกษาเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตร คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำสำนักวิชา คณะกรรมการบัณฑิตศึกษา สภาวิชาการ สภามหาวิทยาลัย และคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาเป็นรายกรณี
หมายเหตุ [1] แก้ไขโดยประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ลงวัน ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563
[2] แก้ไขโดยประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
[3] แก้ไขโดยประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566
- ประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560
- ประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563
- ประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
- ประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเผยแพร่ผลงานวิจัย ระดับบัณฑิตศึกษา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566